พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

 พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

            พระราชประวัติ



สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ประสูติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร


เมื่อหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีอายุราว 2 ปี ขณะที่พี่เลี้ยงอุ้มอยู่นั้นก็มีแขกเลี้ยงวัวเข้ามาทำนายทายทัก ว่าเด็กผู้หญิงคนนี้จะมีบุญวาสนาได้เป็นราชินีในอนาคต ดังที่ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เล่าไว้ ความว่า ...วันหนึ่งขณะที่พี่เลี้ยงอุ้ม ม.ร.ว.สิริกิติ์ เดินเล่น พอดีขณะนั้นมีแขกเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเพื่อนของแขกยามประจำบ้านมาหากัน พอแขกที่มาเหลือบเห็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ ก็จ้องมองพร้อมทั้งกวักมือเรียกพี่เลี้ยงขอให้เห็นใกล้ ๆ หน่อย เมื่อเข้ามาใกล้มองดูสักครู่ก็พูดว่า "ต่อไปจะเป็นมหารานี" พี่เลี้ยงได้ฟังก็ชอบใจเที่ยวเล่าให้คุณยายและใครต่อใครฟัง ถึงไม่เชื่อแต่ก็ปลื้มใจ ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เจริญวัยขึ้น เลยเป็นเหตุให้คุณพี่ชายทั้งสองคนเอามาล้อเลียนเป็นที่ขบขันว่าเป็นราชินีแห่งอบิสซีเนีย (เอธิโอเปียในปัจจุบัน) บางครั้งถึงกับทำให้ผู้ถูกล้อต้องนั่งร้องไห้ด้วยความอายและเจ็บใจ แต่พี่ชายทั้งสองก็ยังไม่หยุดล้อ กลับเอาเศษผ้าขาด ๆ มาทำเป็นธงโบกอยู่ไปมา พร้อมทั้งบอกว่าเป็นธงประจำตัวของราชินี. . .



                         


              การศึกษา

พ.ศ. 2479 เมื่อหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ ทรงมีอายุได้ 4 ชันษา ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในประเทศไทยจะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือ สงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคมไม่สะดวก พระบิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังพระบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนถึงชั้นมัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้เริ่มเรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสซึ่งทรงสันทัดเช่นกัน
พ.ศ. 2489 ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้โดยได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว
ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษหลังจากนั้นไม่นาน พระบิดาย้ายไปเดนมาร์กและฝรั่งเศส ตามลำดับ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโนและตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส
ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ขึ้น
      

                          


อภิเษกสมรส

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรพร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในการนี้ด้วย


พระราชกรณียกิจ

             ตลอดระยะเวลาแห่งการดำรงพระอิสริยยศ พระราชินีจนถึง สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงปฏิบัติภารกิจ น้อยใหญ่นานัปการ ทั้งในฐานะ พระผู้เป็นที่พึ่งของ ปวงชนชาวไทยและในฐานะ คู่บุญคู่พระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงช่วยแบ่งเบา พระราชภารกิจ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อานา ประชาราษฏร์ ทั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เอง ไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบท ทั่วทุกภูมิภาค แม้ตราก ตรำพระวรกาย เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้น ยังไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน ก็มิได้ย่อท้อ   



                         


ในด้านการศึกษา

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถสนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษา และทรงยึดมั่นในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ปัญญาทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์" สติปัญญาเกิดขึ้นได้ด้วยการศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการอ่านหนังสือ พระราชกรณียกิจด้านการศึกษานานัปการ ที่พระราชทานแกพสกนิกรชาวไทยนั้นประกอบด้วย ทรงส่งเสริมการศึกษาในระบบโรงเรียน เช่น พระราชทานทุนการศึกษาแกนักเรียน สร้างโรงเรียน พระราชทานพระราชทรัพย์อุดหนุนโรงเรียน พระราชทานอุปกรณ์การเรียน ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน เป็นต้น ด้านการศึกษานอกโรงเรียน เช่น ทรงสอนหนังสือชาวบ้าน ทรงสร้างศาลาร่วมใจ ทรงส่งเสริมการอาชีวศึกษา ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนางานศิลปาชีพ นอกจากนี้ ยังทรงส่งเสริมการศึกษาของพระภิกษุสามเณร และทรงรับมูลนิธิแม่ชีไทยไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นต้น  


ในด้านสังคมสงเคราะห์

           สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดการประชุมหลายครั้ง ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานทุนทรัพย์ตั้ง "กองทุนเมตตา" ขึ้นเมื่อทรงทราบว่า คนบางคนแม้จะตั้งใจประกอบอาชีพโดยสุจริตด้วยความขยันแล้ว แต่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่ความจำเป็นที่ต้องใช้จ่าย จึงเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ จนมีหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ยากที่จะปลดเปลื้องได้ เกิดความเดือดร้อน เป็นความทุกข์ของครอบครัวทับถมซับซ้อน ก่อให้เกิด ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ความเจ็บป่วยด้านจิตใจ ความเก็บกดหรือการแก้ปัญหาในทางที่ผิดของเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวนั้น ๆ ความท้อแท้ที่จะ ศึกษาเล่าเรียน จนท้ายที่สุดกลายเป็นปัญหาของสังคม กองทุนเมตตาได้ขจัดปัดเป่าบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ที่เดือดร้อนได้ตามวัตถุประสงค์ในเวลานั้น นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่งให้ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ เป็นทุนริเริ่มกองทุนพระราชทานช่วยเหลือการศึกษาเด็กเยาวชน เพื่อช่วยเหลือเด็กขาดแคลนให้มีโอกาสได้เล่าเรียน มีความรู้ไปประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตในแนวทางที่ถูกที่ควรกองทุนนี้ต่อมา ได้มีผู้สมทบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และขยายเป็นทุนอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ทำนองเดียวกันนี้อีกหลายทุน มีชื่อต่าง ๆ ได้ช่วยสร้างคนให้เป็นคนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเมื่อเติบโตขึ้น นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์แก่สมาคม และมูลนิธิเพื่อการสังคมสงเคราะห์เป็นจำนวนมาก เช่น มูลนิธิช่วยเด็กปัญญาอ่อน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นต้น 

พระมหากรุณาธิคุณมิได้แผ่ปกป้องเฉพาะปวงชนชาวไทย

หากแต่ยังทรงแผ่ปกไปถึงประชาชน ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชาวกัมพูชาอพยพลี้ถัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแดนไทย แถบจังหวัดตราด จันทบุรี และปราจีนบุรี มีพระราชศรัทธาและพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงบำบัด ทุกข์บำรุงสุขผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยมิได้ทรงเลือกเชื้อชาติ ศาสนา หรือ เผ่าพันธุ์ พระปรีชาสามารถ และพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงทุ่มเทอุทิศกำลังพระวรกาย พระสติปัญญา พระราชทรัพย์ ในพระราชกรณียกิจต่าง ๆเพื่อเกื่อกูลประโยชน์สุขของพสกนิกรนั้น ได้ดื่มด่ำอยู่ใน หัวใจคนไทยทั้งชาติ และหยั่งลึกลงเป็นรากฐานแห่งความจงรักภักดีต่อ พระบรมราชจักรีวงศ์เป็นผลให้เกิดความมั่งคง และนำศานติสุขมาสู่ปวงชนชาวไทย
สถาบัน องค์กร มหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โล่เฉลิมพระเกียรติ รางวัล และประกาศเกียรติคุณต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น องค์กรค์การเอฟเอโอ ทูลเกล้าฯถวายเหรียญ ซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้น และทรงเป็นผู้ “ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” มหาวิทยาลัยทัฟฟ แห่งรัฐแมสซาซูเซ็ทท์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม ในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะ การครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็กๆ ในหมู่ผู้ลี้ภัย สหพันธ์เด็กแห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯถวายรางวัล ด้านมนุษยธรรม มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าของโลก สดุดีทิดพระเกียรติในฐานะบุคคลดีเด่นด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่งอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่นๆ อีกมากมายที่ทูลเกล้าฯถวายปริญญา และรางวัลประกาศกิตติคุณแด่พระองค์ท่าน